การแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่เพื่อปลูกยางพาราในพื้นที่ภาคเหนือ

              ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีหน้าที่ในการติดตามและประเมินผลการดำเนินการของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินยุทธศาสตร์ของ คสช. กำหนดแนวทางและมาตรการหรือกลไกในการประสานความร่วมมือระหว่างส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ โดยสามารถแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็น โดยมี พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานคณะอนุกรรมการ คณะที่ ๒ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของ คสช. ครั้งที่ ๗/๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๘ ณ ห้องประชุมอาคารรับรองเกษะโกมล มี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี/ประธานคณะกรรมการฯ เป็นประธาน ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ขอรับการสนับสนุนกำลังพลจากกระทรวงกลาโหม ในการลาดตระเวนพื้นที่ลักลอบปลูกยางพาราในพื้นที่ต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังต่อพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกฯ สำหรับในพื้นที่ภาคเหนือนั้น มีพื้นที่ถูกบุกรุกเพื่อปลูกยางพารา ประมาณ ๖ แสนไร่ เป็นพื้นที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประมาณ ๔ แสนไร่ และพื้นที่ของกรมป่าไม้ ประมาณ ๒ แสนไร่ ซึ่ง รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยแบ่งขั้นตอนการดำเนินการเป็น ๓ ขั้นตอน ดังนี้

๑. ขั้นเตรียมการ ได้แก่ การสำรวจพื้นที่ปลูกยางพาราด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ การตรวจสอบข้อมูลพื้นที่ปลูกยางพาราภาคสนาม และการกำหนดแผนปฏิบัติงาน โดยทุกพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๘

๒. ขั้นปฏิบัติการ ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมาย/มาตรการทางการปกครอง โดยทุกพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม ๒๕๕๘

๓. ขั้นฟื้นฟู ได้แก่ การฟื้นฟูสภาพป่า/การนำไม้ยางพาราไปใช้ประโยชน์

              โดยทั้ง ๓ ขั้นตอน จะต้องดำเนินงานประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจควบคู่ไปด้วย เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๘ พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะ ได้เดินทางมาชี้แจงแนวทางการปฏิบัติและมอบนโยบายการปฏิบัติงานการแก้ไข ปัญหาการบุกรุกพื้นที่เพื่อปลูกยางพาราในพื้นที่ภาคเหนือ ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีส่วนราชการต่างๆ เข้าร่วมรับฟังคำชี้แจงอย่างพร้อมเพรียง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดให้จังหวัดโดยผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน และกองทัพภาคที่ ๓ พิจารณาการสนับสนุนกำลังพลให้ กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามที่ร้องขอ โดยกำหนดเริ่มแผนปฏิบัติการในวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๘ กองทัพภาคที่ ๓ ได้ดำเนินการสนองนโยบายดังกล่าว โดยได้มอบหมายให้กองกำลังรักษาความสงบ ประจำพื้นที่ ประสานหน่วยงานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง ในการตรวจสอบพื้นที่ที่ถูกบุกรุกฯ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป มีจำนวน ๑๔ จังหวัด (ยกเว้นจังหวัดพิจิตร, ลำพูน และอุตรดิตถ์) รวมพื้นที่ทั้งสิ้น ๑๐๐,๖๐๐.๙๗ ไร่

 

ผลการดำเนินงาน เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๘
๑. ตัดทำลายต้นยางในเขตอุทยานแห่งชาติผาแดง บริเวณบ้านนาหวาย ตำบลเมืองนะ อำเภอ
เชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดย หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ ๕
๒. ตัดทำลายต้นยางในเขตอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่
โดย กองกำลังรักษาความสงบ มณฑลทหารบกที่ ๓๓
๓. ตรวจยึดพื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ท่าแพ บริเวณตำบลบ้านแก่ง อำเภอศรีสัชนาลัย
จังหวัดสุโขทัย โดย กองกำลังรักษาความสงบ จังหวัดทหารบกพิษณุโลก
๔. ตรวจยึดพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติศรีน่าน จังหวัดน่าน โดย กองพันทหารม้าที่ ๑๕
๕. ตรวจสอบพื้นที่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย บริเวณบ้านกุงไม้สัก ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดย หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ ๗
ผลการดำเนินงาน เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๘
๑. ตัดทำลายต้นยางในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง บริเวณบ้านเข็กใหญ่ หมู่ที่ ๔ ตำบล
บ้านแยง อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก โดย แม่ทัพภาคที่ ๓ เป็นประธานในพิธีฯ ดำเนินการโดยกองกำลังรักษาความสงบ กองพลทหารราบที่ ๔
๒. ตัดทำลายต้นยางในเขตอุทยานแห่งชาติเขาค้อ บริเวณตำบลบ้านเนิน อำเภอหล่มเก่า จังหวัด
เพชรบูรณ์ โดย กองกำลังรักษาความสงบ กองพลทหารม้าที่ ๑
๓. ตัดทำลายต้นยางในเขตอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง บริเวณอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
โดย กองกำลังรักษาความสงบ มณฑลทหารบกที่ ๓๓
๔. ตรวจสอบพื้นที่ บริเวณบ้านปางคาม หมู่ที่ ๒ ตำบลปางมะผ้า อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดย หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ ๗

แม่ทัพภาคที่ ๓
ได้กรุณามอบนโยบายในการดำเนินงานให้กับหน่วยรับผิดชอบ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ดังนี้
๑. มทภ.๓/ผบ.กกล.รส.ทภ.๓/ผอ.รมน.ภาค ๓ ให้อำนาจแก่ ผบ.กกล.รส.ประจำพื้นที่ ในการจัดกำลังให้การสนับสนุนการปฏิบัติแก่หน่วยงานสังกัด ทส. ที่ขอรับการสนับสนุน โดย ผบ.กกล.รส.ประจำพื้นที่ ต้องรายงานให้ มทภ.๓/ผบ.กกล.รส.ทภ.๓/ผอ.รมน.ภาค ๓ ทราบก่อนทุกครั้ง และเมื่อปฏิบัติเสร็จแล้วให้รายงานผลการปฏิบัติมีรายละเอียดดังนี้
             ๑.๑ จำนวนไม้ยางพาราที่ตัดเท่าไร (กี่ต้น/กี่ไร่) และไม้ที่ตัดแล้วมีการนำไปใช้ประโยชน์หรือดำเนินการอย่างไรต่อไป ทั้งนี้ไม้ดังกล่าวต้องไม่เป็นประโยชน์หรือเกื้อกูลต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเด็ดขาด
             ๑.๒ แผนการปลูกทดแทนไม้ยางพาราที่ตัด/ไม้อะไร, เมื่อไร, อย่างไร และหน่วยใดรับผิดชอบในการปลูกทดแทน
             ๑.๓ ลูกจ้างในสวนยางที่ถูกตัด ที่ได้รับผลกระทบจากการตัดไม้ยางพาราของเจ้าหน้าที่มีกี่ราย และแต่ละรายมีการประกอบอาชีพอื่นเสริมหรือไม่ มีผลกระทบมากน้อยเพียงใด
             ๑.๔ หน่วยมีแผนช่วยเหลือลูกจ้าง ที่ได้รับผลกระทบอย่างไร
๒. ให้หน่วยเสนอการขอรับการสนับสนุนงบประมาณ โดยให้คำนึงถึงความเป็นจริงที่หน่วยปฏิบัติ สามารถขอรับการสนับสนุนเป็นห้วงๆ ได้
๓. การแถลงข่าวต่อสื่อ  มทภ.๓/ผบ.กกล.รส.ทภ.๓/ผอ.รมน.ภาค ๓ อนุมัติให้ ผบ.หน่วยในพื้นที่ สามารถแถลงข่าวได้ โดยเน้นเนื้อหาที่ต้องการให้สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปได้รับทราบแบบเดียวกับที่รายงานผลการปฏิบัติ (จำนวนไม้ยางพาราที่ตัด, แผนการปลูกทดแทน, เกษตรกรรายย่อย/ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และแผนการช่วยเหลือของหน่วยต่อเกษตรกรรายย่อย/ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ)
๔. การปฏิบัติงานของ กกล.รส.ประจำพื้นที่ ร่วมกับหน่วยงานสังกัด ทส. ต้องมีหนังสือร้องขอการสนับสนุนจากหน่วยงานสังกัด ทส. ในพื้นที่ โดยให้หน่วยงานสังกัด ทส. ประสานร่วมกับคณะกรรมการจังหวัด ซึ่งมี ผวจ.นั้นๆ เป็นประธาน จัดทำแผนฯ โดยละเอียด (กำหนดห้วงการปฏิบัติจนจบภารกิจ ระบุห้วงเวลาและกำลังพลที่ต้องให้การสนับสนุน) ส่งแผนฯ ให้ ทภ.๓/กกล.รส.ทภ.๓/กอ.รมน.ภาค ๓ ทราบก่อนการปฏิบัติอย่างน้อย ๓ วัน
๕. การจัดกำลังพลและยุทโธปกรณ์สนับสนุนการเข้าดำเนินการให้ นขต.กกล.รส.ทภ.๓ ยึดหลักกฎหมายในบทบาทของเจ้าพนักงานผู้สนับสนุนภายใต้ผู้รับผิดชอบหลักคือ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานสังกัด ทส.
๖. การปฏิบัติทุกครั้ง ให้ศึกษาข้อมูลของพื้นที่ว่าต้องเป็นพื้นที่ที่คดีสิ้นสุดแล้ว (AO1) โดยทุกการปฏิบัติต้องไม่มีผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย
๗. ทุกการปฏิบัติ ให้รายงานผลการปฏิบัติไปยังห้องติดตามสถานการณ์ (War room) ศปม.กอ.รมน.ภาค ๓ ( E-mail : CCFNFI@hotmail.com, หมายเลขโทรศัพท์ ๐๕๕-๒๕๘๖๓๓  และโทรฯ ทบ. ๗๓๑๙๔) โดยทุกการปฏิบัติหน่วยต้องจัดตั้งห้องติดตามสถานการณ์ (War room) ของหน่วย และเป็น บก.ควบคุมการปฏิบัตินั้นๆ
๘. ให้ กกล.รส.ประจำพื้นที่ ที่มีพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินการ ประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานสังกัด ทส. ดังนี้
              ๘.๑ สำรวจ/ตรวจสอบพื้นที่ปลูกไม้ยางพาราภาคสนาม (Ground Check) อย่างละเอียดทั่วพื้นที่รับผิดชอบ
              ๘.๒ ประสาน/จัดทำแผนปฏิบัติงาน (Action Plan) ให้สอดคล้องกับปริมาณพื้นที่ปฏิบัติการและกำลังพลที่ต้องขอรับการสนับสนุน
              ๘.๓ เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก ทภ.๓/กกล.รส.ทภ.๓/กอ.รมน.ภาค ๓ ส่งข้อมูลใน ๑๐๑๓๐๐ มิ.ย. ๕๘ (กกล.รส.ประจำพื้นที่ เมื่อข้อมูลประกอบการปฏิบัติชัดเจนแล้วสามารถทำเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณเป็นห้วงๆ ได้)
๙. การปฏิบัติของกำลังพลเน้นความปลอดภัยเป็นหลัก โดยให้มีแผนเผชิญเหตุทุกครั้ง (มีแผนส่งกลับและแผนการช่วยเหลือ เป็นต้น)
๑๐. กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ เช่น ม.๒๒ ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๔ และ ม.๒๕ ของ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ เป็นต้น ให้ กกล.รส.ประจำพื้นที่ ศึกษาโดยละเอียด สามารถชี้แจงให้กับประชาชนที่เกี่ยวข้องได้

 
จัดทำโดย กกร.ทภ.๓